ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนนักวิชาการจากกรุงวอชิงตัน ดีซี”
2024-03-12
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนนักวิชาการจากกรุงวอชิงตัน ดีซี” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนนักวิชาการจากกรุงวอชิงตัน ดีซี” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 11 มี.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนนักวิชาการจากกรุงวอชิงตัน ดีซี” โดยปธน.ไช่ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อคณะตัวแทนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันเสมอมา พร้อมทั้งประกาศเผยแพร่รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อภูมิภาค พร้อมนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไต้หวัน จึงหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในเชิงลึก โดยปธน.ไช่ฯ ยังเรียกร้องให้กลุ่มนักวิชาการแสดงบทบาทสำคัญ ในการช่วยส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น ในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังหวังที่จะเห็นไต้หวันและกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ขยายขอบเขตความร่วมมือ เพื่อร่วมรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ปธน.ไช่ฯ กล่าวระหว่างปราศรัยว่า ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นวาระครบรอบ45 ปี แห่งการบัญญัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสพบปะกับคณะตัวแทนในครั้งนี้ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ

ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ตั้งแต่ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ถูกบัญญัติขึ้น ทั่วโลกได้ประสบกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผกผัน ตราบจนปัจจุบัน กฎหมายฉบับข้างต้นได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ ขอแสดงความขอบคุณต่อเหล่าอาคันตุกะที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันมาเป็นเวลานาน และยังได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อภูมิภาค นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว Mr. Jude Blanchette ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และสถานการณ์ระหว่างประเทศและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจีน (Center for Strategic and International Studies ,CSIS) ได้เผยแพร่บทความพิเศษร่วมกับบรรดาเจ้าหน้าที่คลังสมองของสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลกลางควรมีคำอธิบายที่เหมาะสมว่าเหตุใดไต้หวันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
 
ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อแขกผู้มาเยือนสำหรับความสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน และยังกล่าวว่า ไต้หวันในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ จะมุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างเต็มกำลัง และคาดหวังที่จะขยายขอบเขตทางความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อร่วมรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ให้คงอยู่ต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไต้หวัน เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” โดยปธน.ไช่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีเกิดใหม่ และความมั่นคงด้านโทรคมนาคม อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
Ms. Bonnie S. Glaser กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผัน ซึ่งหมายรวมถึงความพลิกผันด้านนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะนโยบายที่มีส่วนเกี่ยวพันกับไต้หวัน และนโยบายสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในบางช่วงขณะ รวมถึงความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
 
Ms. Bonnie S. Glaser กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีมานี้ ปธน.ไช่ฯ ได้มุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงประชาธิปไตยของไต้หวัน และเสรีภาพที่ประชาชนชาวไต้หวันหวงแหน ด้วยศักยภาพของความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังเป็นพันธมิตรทางความร่วมมือที่สำคัญของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
 
Ms. Glaser กล่าวว่า บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งที่ปธน.ไช่ฯ ได้ปูทางไว้ Ms. Glaser เชื่อว่าหลังจากที่ปธน.ไช่ฯ ได้ส่งมอบตำแหน่งให้แก่ปธน.คนต่อไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่งดุจหินผาดังเดิม ในท้ายนี้ Ms. Glaser รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะปธน.ไช่ฯ ในครั้งนี้ โดยหวังที่จะมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนและหารือร่วมกันในอนาคตต่อไป