ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ร่วมเสวนากับ Mr. Othmar Karas รองประธานรัฐสภา คนที่ 1 พร้อมร่วมหารือกับประธานรัฐสภาเช็กและลิทัวเนีย และเดินทางเยือนโปแลนด์
2024-03-25
New Southbound Policy。ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ร่วมเสวนากับ Mr. Othmar Karas รองประธานรัฐสภา คนที่ 1 พร้อมร่วมหารือกับประธานรัฐสภาเช็กและลิทัวเนีย และเดินทางเยือนโปแลนด์ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ร่วมเสวนากับ Mr. Othmar Karas รองประธานรัฐสภา คนที่ 1 พร้อมร่วมหารือกับประธานรัฐสภาเช็กและลิทัวเนีย และเดินทางเยือนโปแลนด์ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 มี.ค. 67
 
นางสาวเซียวเหม่ยฉิน ว่าที่รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภายุโรป ตามคำเชิญของสมาชิกรัฐสภาระดับสูงของพรรคการเมืองแบบข้ามพรรคของรัฐสภายุโรป ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก Mr. Othmar Karas รองประธานรัฐสภา คนที่ 1 ในฐานะตัวแทนของ Ms. Roberta Metsola ประธานรัฐสภา นับเป็นครั้งแรกที่ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ได้รับเชิญให้เดินทางเยือนยุโรป ก่อนการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่า ไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) เป็นหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันให้กับรัฐบาลยุโรป ตลอดจนเป็นการสร้างและขยายขอบเขตความร่วมมือในทุกด้านระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
 
ในระหว่างการเดินทางเยือน ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ได้มีการเข้าเยี่ยมพบ Mr. Reinhard Bütikofer ประธานกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) และ Mr. Michael Gahler ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภายุโรป ที่ถูกรัฐบาลจีนขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในรายชื่อตามบัญชีดำ นอกจากนี้ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศและกลุ่มส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน รวมถึงสมาชิกกลุ่มพันธมิตรไต้หวัน ในประเด็นที่ไต้หวัน – EU ต่างให้ความสำคัญร่วมกัน
 
หลายปีมานี้ ไต้หวัน – EU มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ในรายงานการประชุมสุดยอด EU เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ได้มีการแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันในช่วงท้ายของรายงาน และได้แสดงถึงจุดยืนในการสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันอย่างฉาบฉวย และพฤติกรรมการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร อันถือเป็นฉันทามติร่วมกันของประเทศสมาชิก EU นอกจากนี้ EU ยังเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของไต้หวัน มูลค่าการลงทุนจากกลุ่มประเทศยุโรปในไต้หวัน มีมูลค่าสะสมสูงถึง 71,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว จึงถือได้ว่า EU เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ประกอบกับหลายปีมานี้ ผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์และผู้ประกอบการเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) ได้ทยอยเข้าลงทุนในยุโรป โดยในปีที่แล้ว ไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปได้ร่วมลงนามความตกลงทางความร่วมมือ จำนวน 29 ฉบับ ทั้งในด้านการเกษตร การแพทย์ การศึกษา เทคโนโลยีและวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ภาครัฐในสภาบริหารของกลุ่มประเทศยุโรป รวม 74 คน ก็ได้ตอบรับคำเชิญเดินทางเยือนไต้หวัน โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีของไต้หวันก็ได้นำคณะเดินทางเยือนกลุ่มประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ยังได้ตอบรับคำเชิญของคลังสมองยุโรป เดินทางเยือนกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เช่น สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐโปแลนด์และสาธารณรัฐลิทัวเนีย เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกกลุ่มพันธมิตรไต้หวันของนานาประเทศ และประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศในรัฐสภากลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศ ที่ประกอบด้วย ลิทัวเนีย เอสโตเนียและลัตเวียด้วย
 
การเดินทางเยือนของว่าที่รองปธน.เซียวฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องของพันธมิตรแห่งประชาธิปไตย ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่ต้องการเรียกร้องให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยเฉพาะในระบบห่วงโซ่อุปทานแห่งประชาธิปไตย รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกของไต้หวัน ตลอดจนมุ่งเสริมสร้างความเข้าใจต่อความมุ่งมั่นในด้านสันติภาพของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก
 
นอกจากนี้ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ยังได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาธิปไตยและความมั่นคง” ทั้งที่ SINOPSIS คลังสมองสาธารณรัฐเช็ก มูลนิธิ Casimir Pulaski Foundation (CPF) ซึ่งเป็นคลังสมองของสาธารณรัฐโปแลนด์  และสถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยวิลเนียส  (TSPMI) โดยได้ชี้แจงถึงแนวทางการปกป้องสันติภาพระดับภูมิภาค ใน 4 มิติหลักของไต้หวัน ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย การเสริมสร้างกลไกการสกัดกั้นทางกลาโหมอย่างเต็มกำลัง การยกระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเปิดฉากความร่วมมือระหว่างพันธมิตรประชาธิปไตย และการธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้ EU – ไต้หวัน ร่วมลงนามความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจ เพื่อแสดงถึงหลักประกันและความเชื่อมั่นด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ EU มีต่อภูมิภาค
 
นอกจากนี้ ว่าที่รองปธน.เซียวฯ ยังได้เดินทางเยือนสถาบันวิจัย Nicolaus Copernicus Academyเพื่อเป็นสักขีพยานในโครงการความร่วมมือว่าด้วยการส่งมอบความช่วยเหลือให้ยูเครน ระหว่างไต้หวัน – โปแลนด์ และร่วมเสวนาพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับดุษฎีบัณฑิตชาวยูเครน 6 คน ที่ได้รับทุนการศึกษาจากไต้หวัน โดยในอนาคต ไต้หวัน – โปแลนด์ จะร่วมมือกันในการช่วยบูรณะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในยูเครนต่อไป