ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 เม.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 เมษายน ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ คณะตัวแทนจาก “Project 2049 Institute” ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของสหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไช่ฯ แถลงว่า วันที่ 10 เมษายนปีนี้ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 45 ปีแห่งการบัญญัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาล รัฐสภาและองค์การเอกชน ที่ร่วมต่อสู้เคียงคู่กับไต้หวันอย่างมุ่งมั่นเสมอมา พร้อมทั้งมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและสัมพันธไมตรีระหว่างสองฝ่ายให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังระบุว่า หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระหว่างที่สหรัฐฯ มุ่งบรรลุคำมั่นด้านความมั่นคงที่มีต่อไต้หวัน ไต้หวันก็มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยในอนาคต ไต้หวันจะจับมือกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้มุ่งยกระดับความสัมพันธ์ทางความมั่นคงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากจะอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน ตามที่ระบุไว้ใน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” แล้ว เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้จัดตั้งกองทุนสินเชื่อทางกลาโหมสำหรับไต้หวันอีกด้วย กอปรกับเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568” ของสหรัฐฯ ได้เสร็จสิ้นกระบวนการบัญญัติกฏหมายแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอัดฉีดทรัพยากรทางการเงินในการสนับสนุนมาตรการและข้อเสนอที่เกี่ยวกับไต้หวัน
ปธน.ไช่ฯ ยังได้หยิบยกกรณีตัวอย่างที่ไต้หวันมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเอง อาทิ การสร้างเรือรบภายในประเทศ รวมไปถึงเรือดำน้ำภายใต้ชื่อ Narwhal class Submarine หรือเรือลาดตระเวณประสิทธิภาพสูง รวม 6 ลำ ซึ่งล้วนพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพด้านการต่อเรือด้วยตนเองและยังเป็นการยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมของไต้หวันด้วย
Mr. Randall G. Schriver ประธาน “Project 2049 Institute” ชี้ว่า “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ในความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นแพลตฟอร์มและกลไกสำคัญทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคงและการทหาร เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเล็งเห็นว่า “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” จำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยนและแก้ไข อย่างไรก็ตาม พวกเราได้ก้าวผ่านภารกิจสำคัญที่เปี่ยมด้วยอุปสรรคและความท้าทาย ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จนบังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ดั่งที่ปรากฎในปัจจุบัน