ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – แคนาดาร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยี อีก 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการทูตด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี
2024-04-19
New Southbound Policy。ไต้หวัน – แคนาดาร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยี อีก 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการทูตด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
ไต้หวัน – แคนาดาร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยี อีก 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการทูตด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคี (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วันที่ 16 เม.ย. 67
 
ในช่วงระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนที่ผ่านมา นางเฉินอี๋จวง รองประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Council, NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนายอู๋เจิ้งจง ประธาน NSTC เข้าร่วมพิธีลงนาม “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา” (Science, Technology, Innovation Arrangement, STIA) พร้อมทั้งร่วมจัดการประชุมหารือด้านเทคโนโลยีแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – แคนาดา ขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีแบบทวิภาคี และขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาตร์ในอนาคต รวมไปถึงการบ่มเพาะบุคลากร โดยประธานอู๋ฯ ได้มุ่งมั่นในการผลักดันการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ ในช่วงระยะเวลาร่วม 3 ปีมานี้ ไต้หวันได้ทยอยลงนามความตกลงทางความร่วมมือเชิงเทคโนโลยีระดับกระทรวงกับสหรัฐฯ เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อเปรียบทางเทคโนโลยี ซึ่งแคนาดานับเป็นประเทศที่ 4 ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปีมานี้ ที่ร่วมลงนามความตกลงฉบับข้างต้นกับไต้หวัน
 
ความตกลงทางความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา ในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ กรุงออตตาวาของแคนาดา เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีนายเจิงโห้วเหริน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในแคนาดา และ Mr. Jim Nickel ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าแคนาดาประจำกรุงไทเป เป็นผู้ลงนาม โดยในอนาคต ทั้งสองประเทศจะมุ่งผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคี เทคโนโลยีแห่งอนาคตและการบ่มเพาะบุคลากร บนพื้นฐานความตกลงข้างต้นต่อไป
 
หลังเสร็จสิ้นการลงนาม NSTC และกระทรวงการพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ (ISED) แห่งรัฐบาลกลางแคนาดา และหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ได้จัดการประชุมหารือทางเทคโนโลยีแบบทวิภาคี โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นเทคโนโลยี AI เซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นความร่วมมือแบบทวิภาคีในอนาคต และโครงการบ่มเพาะบุคลากร โดยรองประธานเฉินฯ กล่าวในระหว่างการประชุมว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยทางเทคโนโลยีระดับโลก ภายในปีนี้ NSTC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมเปิดตัว “โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยแผ่นชิป” (Taiwan Chip-based Industrial Innovation Program, Taiwan CbI) อย่างเป็นทางการ โดยจะกำหนดให้การผลิตแผ่นชิปของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน และข้อได้เปรียบในการบรรจุและทดสอบ (Packaging and Testing) เป็นฐานตั้งต้น ผนวกเข้ากับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายแขนงของไต้หวันและประเทศอื่นๆ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแผ่นชิปและ Generative AI จากแคนาดา เดินทางมาลงทุนในไต้หวัน พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐแคนาดายังแถลงว่า การแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตแบบทวิภาคี จะมีส่วนช่วยในการรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ในด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและวิถีชีวิตในภายภาคหน้าต่อไป

การเดินทางเยือนแคนาดาในครั้งนี้ รองประธานเฉินฯ ยังมีกำหนดการเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแห่งชาติแคนาดา (National Research Council Canada, NRC) โดยมี Ms. Lakshmi Krishnan รองผู้อำนวยการสถาบัน NRC เป็นผู้ให้การต้อนรับ ทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคี ในด้านชีวการแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัล ในอนาคต