ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณสมาชิกรัฐสภายุโรป นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ที่ร่วมลงนามในบทความที่ส่งถึงสื่อมวลชนฝรั่งเศสและเยอรมนี ในการเรียกร้องให้ EU เร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน
2020-09-17
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอบคุณสมาชิกรัฐสภายุโรป นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญรวม 9 คนที่ร่วมลงนามในบทความที่ส่งถึงสื่อมวลชนฝรั่งเศสและเยอรมนี ในการเรียกร้องให้ EU เสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน (ภาพจาก MOFA)
กต.ไต้หวันขอบคุณสมาชิกรัฐสภายุโรป นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญรวม 9 คนที่ร่วมลงนามในบทความที่ส่งถึงสื่อมวลชนฝรั่งเศสและเยอรมนี ในการเรียกร้องให้ EU เสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :

♦ สมาชิกรัฐสภายุโรป นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในยุโรปรวม 9 คน ร่วมลงนามในบทความที่ส่งถึงสื่อมวลชนที่สำคัญของเยอรมนีและฝรั่งเศส เรียกร้องให้ EU เสริมสร้างความร่วมมือและติดต่อแลกเปลี่ยนกับไต้หวัน เพื่อร่วมรับมือกับการข่มขู่ไต้หวันของจีน ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันให้คงอยู่สืบไป

 

♦ นักการเมืองและผู้นำทางความคิดทั้ง 9 คน ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาระดับสูงระหว่างไต้หวัน – EU โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน

 

♦ ไต้หวัน – EU สามารถแสวงหาความร่วมมือในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป อาทิ เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

-------------------------------------------

MOFA วันที่ 15 ก.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. Ms. Nathalie Loiseau ประธานคณะอนุกรรมการด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศของรัฐสภายุโรป และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปคนแรกของรัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ทำหน้าที่เป็นแกนนำ พร้อมด้วยนักการเมือง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในยุโรปรวม 9 คน ร่วมลงนามในบทความที่ส่งถึงสื่อมวลชนที่สำคัญของเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยนักการเมืองและนักวิชาการดังกล่าว ประกอบด้วย Mr. Reinhard Butikofer สมาชิกรัฐสภายุโรปสัญชาติเยอรมนีที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน “คณะผู้แทนความสัมพันธ์กับจีน” Mr. Radoslaw Sikorski สมาชิกรัฐสภายุโรปที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน “คณะผู้แทนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา” ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ Mr. Raphael Glucksmann รองประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชนของรัฐสภายุโรป Mr. Petras Austrevicius สมาชิกรัฐสภายุโรปที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน “คณะผู้แทนความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน” Mr. Elmar Brok อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป Mr. Volker Stanzel อดีตเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศจีน Dr. Hanns Maull นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Mercator Institute for Chinas Studies (Merics) ซึ่งเป็นคลังสมองของเยอรมนี และ Mr. Francois Godement ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียของสถาบัน Institut Montaigneในฝรั่งเศส ทั้งนี้ เพื่อร่วมผนึกกำลังในการเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) เสริมสร้างความร่วมมือและติดต่อแลกเปลี่ยนกับไต้หวันซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตย เพื่อร่วมรับมือกับการข่มขู่ไต้หวันของจีน ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันให้คงอยู่สืบไป

 

Ms. Nathalie และสมาชิกรัฐสภายุโรป รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญข้างต้น ได้ให้คำแนะนำแก่ EU ในการเสริมสร้างการเจรจาระดับสูงกับไต้หวัน ส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของประเทศในยุโรปนำเสนอข่าวสารในแง่มุมต่างๆ ที่สื่อมวลชนไต้หวันได้ออกเผยแพร่ อาทิ การเข้าร่วมกิจการระหว่างประเทศ สาธารณสุข การค้าและเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน และความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนเร่งเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน กต.ไต้หวันขอแสดงความยินดีและขอบคุณด้วยใจจริง

 

นี่เป็นอีกครั้งที่ผู้นำทางความคิดของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ให้การสนับสนุนไต้หวันที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องจากไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่สมาชิกรัฐสภาของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ประกอบด้วย รัฐสภายุโรป สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส รวม 70 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการเดินทางเยือนไต้หวันของ Mr. Milos Vystrcil ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก

 

ทั้งนี้ นักการเมืองและผู้นำทางความคิดทั้ง 9 คนข้างต้น ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาระดับสูงระหว่างไต้หวัน – EU โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน

 

กต.ไต้หวันระบุว่า ไต้หวันและ EU เป็นพันธมิตรที่ยึดมั่นในค่านิยมสากลที่คล้ายคลึงกัน ภายใต้บริบทที่ต้องเผชิญหน้ากับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมืองทั่วโลกในยุคหลังโควิด – 19 ไต้หวัน – EU สามารถแสวงหาความร่วมมือในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป อาทิ เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย และเป็นการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่อาจเกิดการผกผันในอนาคต โดยในภายภาคหน้า ไต้หวันจะเร่งผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU ให้ก้าวไปสู่อีกขั้นต่อไป