ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – ไทยร่วมจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันและปราบปรามข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด
2020-11-09
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายหลี่อิ้งหยวน (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และ Mr.Robin Ramcharan ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองแห่งเอเชีย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจาก TECO)
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายหลี่อิ้งหยวน (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และ Mr.Robin Ramcharan ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองแห่งเอเชีย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจาก TECO)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ การจงใจเผยแพร่ข่าวปลอม เป็นประเด็นปัญหาร่วมกันของประเทศประชาธิปไตยที่ต้องเผชิญหน้าแก้ไขปัญหา หากมีเจตนาในการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในทางที่ผิด ก็จะส่งผลกระทบเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัส กลายเป็น “การแพร่ระบาดข่าวปลอม” ที่จะสร้างความตื่นตะหนกให้กับภาคประชาสังคมและประชาชนเป็นอย่างมาก

♦ ไต้หวันนอกจากจะบัญญัติข้อกฎหมายว่าด้วยการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของข่าวจากสื่อและอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทันให้กับประชาชน ภายใต้หลักประกันที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังมีหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางในการช่วยชี้แจงข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองแบบเรียลไทม์

♦ การชี้แจงข้อมูลอย่างรวดเร็วและเข้าใจง่าย ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่รัฐบาลควรยึดมั่นในการสกัดกั้นข่าวปลอมด้วยเช่นกัน
-------------------------------------------
TECO วันที่ 4 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) และสถาบันคลังสมองแห่งเอเชีย (Asia Centre) ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้หัวข้อ “ร่วมแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เมื่อเผชิญหน้ากับการเผยแพร่ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด - 19” โดยได้ติดต่อเชิญถังฟ่ง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวันที่มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการด้านดิจิทัลของไต้หวัน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของไต้หวัน (Taiwan FactCheck Center) เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประชาสังคมและบรรดาผู้เชี่ยวชาญของไทย ในประเด็นว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการป้องกันและปราบปรามข่าวปลอมของภาครัฐ และแนวทางการผนึกกำลังกับภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม

 

นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวขณะปราศรัยในที่ประชุมว่า การจงใจเผยแพร่ข่าวปลอม เป็นประเด็นปัญหาร่วมกันของประเทศประชาธิปไตยที่ต้องเผชิญหน้าแก้ไขปัญหา หากมีเจตนาในการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในทางที่ผิด ก็จะส่งผลกระทบเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัส กลายเป็น “การแพร่ระบาดข่าวปลอม” ที่จะสร้างความตื่นตะหนกให้กับภาคประชาสังคมและประชาชนเป็นอย่างมาก ไต้หวันนอกจากจะบัญญัติข้อกฎหมายว่าด้วยการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของข่าวจากสื่อและอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทันให้กับประชาชน ภายใต้หลักประกันที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังมีหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางในการช่วยชี้แจงข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองแบบเรียลไทม์ โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันคัดกรองข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งต่อให้กับประชาชนอย่างกระตือรือร้นต่อไป

 

รมว.ถังฯ แบ่งปันกรณีตัวอย่างที่รัฐบาลใช้วิธีที่ตลกขบขันในการสกัดกั้นข่าวปลอม โดยรมว.ถังฯ แสดงความเห็นว่า การชี้แจงถึงข่าวสารที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงด้วยวิธีที่ตลกขบขันและมีส่วนเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน จะสามารถบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลที่มีความน่าสนใจจะได้รับการแชร์ลงสู่โลกโซเชียลในวงกว้าง การประยุกต์ใช้รูปแบบการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร จะสามารถบรรลุการป้องกันและปราบปรามข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รมว.ถังฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลยุคเทคโนโลยีดิจิทัลควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันกับสื่อใหม่ นอกจากนี้ การชี้แจงข้อมูลอย่างรวดเร็วและเข้าใจง่าย ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่รัฐบาลควรยึดมั่นในการสกัดกั้นข่าวปลอมด้วยเช่นกัน

 

ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของไต้หวันและห้องปฏิบัติการเชิงทดลองทางประชาธิปไตย (Doublethink Lab) ต่างทยอยแบ่งปันกรณีตัวอย่างที่ทางองค์กรชี้แจงข่าวปลอมย้อนหลัง โดยในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่ประชาชนต่างตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและหวาดกลัว ภาคเอกชนของไต้หวันต่างร่วมแบกรับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร ผ่านการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงด้านวิชาการ เร่งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบ ร่วมคัดกรองข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ที่แม่นยำให้กับบรรดาประชาชน ถือเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดของภาครัฐบาลในการร่วมสกัดกั้น “การแพร่ระบาดข่าวปลอม”

 

นายชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้เชี่ยวชาญในสถาบัน ChangeFusion ของไทย ชี้แจงว่า รูปแบบการแพร่กระจายของข่าวปลอมเป็นรูปแบบการแพร่กระจายแบบรวมกลุ่ม (cluster of spread) ซึ่งเป็นรูปแบบเช่นเดียวกับการแพร่กระจายของโรคระบาด การป้องกันและปราบปรามแบบถูกจุด ต้องผนึกกำลังร่วมกับหน่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเสริมสร้างเครือข่ายการตรวจสอบข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือผ่านช่องทางสื่อใหม่ นายวรัชญ์ ครุจิต นักวิชาการในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวแบ่งปันประสบการณ์ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานภาครัฐของไทยในการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 โดยได้แบ่งปันนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามข่าวปลอม ซึ่งอาศัยการป้อนข้อมูลผ่านช่องทางเดียว และนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่ายที่ผ่านการคัดกรองจากกลไกการตรวจสอบทางสังคมและการแลกเปลี่ยนระหว่างสื่อมวลชน