ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – สหรัฐฯ ประสานความร่วมมือใน “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” เพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
2020-12-17
New Southbound Policy。นายอู๋เจาเซี่ย (ที่ 2 จากขวา) รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเติ้งเจิ้นจง (ที่ 2 จากซ้าย) รมว.ประจำสภาบริหาร Mr. William Brent Christensen (ขวา) และนายเซี่ยงเถียนอี้ เลขาธิการ ICDF เข้าร่วมงานแถลงข่าวว่าด้วยโครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี ภายใต้ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงไทเป (ภาพจาก MOFA)
นายอู๋เจาเซี่ย (ที่ 2 จากขวา) รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเติ้งเจิ้นจง (ที่ 2 จากซ้าย) รมว.ประจำสภาบริหาร Mr. William Brent Christensen (ขวา) และนายเซี่ยงเถียนอี้ เลขาธิการ ICDF เข้าร่วมงานแถลงข่าวว่าด้วยโครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี ภายใต้ความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงไทเป (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เพื่อส่งเสริมให้ทุกแวดวงทั่วโลกให้ความสำคัญกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี ไต้หวันและสหรัฐฯ เข้าร่วม “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” ที่วางแผนจัดทำโดยบริษัท Impact Investment Exchange (IIX) แห่งสิงคโปร์

♦ ไต้หวันและสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพอย่างยั่งยืนแก่สตรีผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนขานรับต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางเพศ และเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีและเด็กผู้หญิง

♦ การเข้าร่วม “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” ของไต้หวัน นับเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศผู้นำด้านการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ส่วนการสนับสนุนโครงการข้างต้นของสหรัฐฯ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม ตามกรอบ “โครงการความร่วมมือในการส่งเสริมความรุ่งเรืองและการพัฒนาศักยภาพสตรีทั่วโลก” (W-GDP) ของทำเนียบขาวแห่งสหรัฐฯ
-------------------------------------------

สำนักงานเจรจาเศรษฐกิจและการค้า สภาบริหาร วันที่ 14 ธ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมจัดงานแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” (Women’s Livelihood Bond, WLB) โดยนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเซี่ยงเถียนอี้ เลขาธิการกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund, Taiwan ICDF) และ Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) ต่างเดินทางเข้าร่วมภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดฉายวิดีทัศน์การกล่าวปราศรัยที่บันทึกไว้ล่วงหน้าของ Mr. Javier Piedra รักษาผู้ช่วยประธานองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development, USAID) Ms. Charity Wallace ประธานคณะกรรมการบริหารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีทั่วโลกของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) และ Mr. Robert Kraybill ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (CIO) ของบริษัท Impact Investment Exchange (IIX)

 

เพื่อยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ส่งเสริมให้ทุกแวดวงทั่วโลกให้ความสำคัญกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงคุณูปการด้านการพัฒนาภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกของไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม ไต้หวันและสหรัฐฯ จึงได้เข้าร่วม “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” ที่วางแผนจัดทำโดยบริษัท Impact Investment Exchange (IIX) แห่งสิงคโปร์ โดย ICDF ของไต้หวันและ DFC ของสหรัฐฯ ต่างได้ยกระดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (credit enhancement) ในตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี พร้อมกันนี้ยังได้ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากหน่วยงานเอกชนในไต้หวันและต่างประเทศ ผนวกทรัพยากรของหน่วยงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้ความช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพอย่างยั่งยืนแก่สตรีผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนขานรับต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางเพศ และเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีและเด็กผู้หญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls)

 

การผลักดัน “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในด้านการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรีในตลอดช่วงที่ผ่านมา อาทิ กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) การประชุมว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี และความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC) การเข้าร่วม “โครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี” ของไต้หวัน นับเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศผู้นำด้านการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ส่วนการสนับสนุนโครงการข้างต้นของสหรัฐฯ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม ตามกรอบ “โครงการความร่วมมือในการส่งเสริมความรุ่งเรืองและการพัฒนาศักยภาพสตรีทั่วโลก” (W-GDP) ของทำเนียบขาวแห่งสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้กับสตรีทั่วโลกเป็นจำนวน 50 ล้านคนก่อนปี 2025