กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 66
เพื่อจัดตั้งเวทีการเสวนาแลกเปลี่ยน ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “การประชุมสัมมนาผู้นำ NGO 2023” โดยได้เชิญผู้นำองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (INGO) ระดับแนวหน้า เดินทางมาร่วมเป็นผู้บรรยายในไต้หวัน ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย Dr. Liberato Bautista ประธาน “การประชุมองค์การนอกภาครัฐที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษาภายใต้ระบบสหประชาชาติ” (Conference of NGOs in Consultative Relationship with the United Nations, CoNGO) และ Ms. Denise Scotto รองประธานสมาพันธ์นักกฎหมายหญิงนานาชาติ (International Federation of Women in Legal Careers, FIFCJ) รวมไปถึงการจัดการแลกเปลี่ยนและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรดาผู้นำ NGO จากทั้งในและต่างประเทศ และเจ้าหน้าปฏิบัติงานจำนวนกว่า 200 คน ส่งผลให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก
หัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “การเสริมสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มพันธมิตรที่ยึดมั่นในค่านิยมสากลเดียวกัน : การผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างสังคมโลก” (Allied by Universal Values: Strengthening Partnerships between Taiwan’s Government, NGOs and Global Civil Society) โดยนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวระหว่างพิธีเปิดการประชุมว่า ไต้หวันเป็น “พลังแห่งความดี” (force for good) ของโลก พร้อมมุ่งมั่นบรรลุค่านิยมสากลด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เช่น หลังเกิดการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด – 19 ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่บริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาคมโลก และหลังการปะทุขึ้นของสงครามรัสเซีย – ยูเครน ไต้หวันก็ได้ระดมและบริจาคสิ่งของจำเป็นอย่างกระตือรือร้น เพื่อส่งมอบความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รมว.เถียนฯ เน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐและ NGO เป็นหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น จึงจำเป็นต้องประสานสามัคคีและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่งเสริมให้ร่วมธำรงปกป้องค่านิยมสากลระหว่างกัน
Dr. Bautista แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ความเสี่ยงและโอกาสขององค์การนอกภาครัฐที่จะมีส่วนร่วมในระบบพหุภาคีและกระบวนการโลคัลไลเซชันทั่วโลก” (The Perils and Possibilities of Non-Governmental Access to the Premises and Promises of the Multilateral System and the Glocal Agenda) โดย Dr. Bautista เน้นย้ำว่า UN ควรสร้างหลักประกันให้ NGO สามารถเข้าร่วมในเวทีนานาชาติได้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และพลังขององค์กร ในการจัดตั้งชุมชนระดับโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตและสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและความยุติธรรม ตลอดจนยึดมั่นในหลักการไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง (leave no one behind)
สำหรับหัวข้อการแสดงปาฐกถาของ Ms. Scotto รองประธานสมาพันธ์นักกฎหมายหญิงนานาชาติ คือ “ส่งเสริมให้สังคมพัฒนาก้าวหน้า ด้วยสิทธิความเสมอภาคทางเพศ” (Rising Societies: Through Pathways of Gender Equality) โดย Ms. Scotto ได้ยกย่องว่า ไต้หวันเป็นผู้นำในการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคทางเพศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ Ms. Scotto ยังได้แบ่งปันข้อคิดที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่จัดโดยกต.ไต้หวัน อีกทั้งยังเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณา “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” (CEDAW) ของไต้หวันในปี 2014 โดย Ms. Scotto เน้นย้ำว่า สิทธิของสตรีก็คือสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญต่อพลังสตรี โดยหวังที่จะเห็นกลุ่มสตรีสวมบทบาทผู้นำและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
“การประชุมผู้นำ NGO” ที่กต.ไต้หวันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเวทีการเสวนาสาธารณะผ่านการประชุม เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่ NGO ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนของภาคประชาสังคมในเชิงลึก ตลอดจนเป็นการกระตุ้นศักยภาพการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของ NGO ไต้หวันอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย